เมื่อเราบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิตแล้ว จะเอาอย่างไรต่อดี?
หลายคนอาจเคยมีคำถามนี้ในใจ คือคิด ๆ ไปว่าเมื่อประสบความสำเร็จและร่ำรวยแล้ว จะอย่างไรต่อกับชีวิต ตระเวนกินของอร่อย เที่ยวรอบโลก ซื้อรถหรู ช้อปปิ้งของที่อยากได้ ฯลฯ แล้วพอได้ทำเข้าแล้วจริง ๆ แล้วอย่างไรต่อไปอีก? ฯลฯ
โจทย์นี้ไม่ใช่แค่เรา ๆ ท่าน ๆ ที่คิด ในสมัยพุทธกาล คนที่กลุ้มใจกับเรื่องนี้ยังไม่เว้นแม้แต่พระราชา
ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล:
พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือ พระเจ้าประเสนชิต กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล เสด็จไปเฝ้า พระพุทธเจ้า ถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า บัดนี้ชีวิตของท่านนั้น ได้ทำหน้าที่ของพระราชาอย่างถึงที่สุดแล้ว ถึงที่สุดแห่งความเป็นใหญ่ มีโภคทรัพย์มาก มีความสุขมาก ปกครองชาวบ้านอยู่เป็นสุข แผ่นดินมีความมั่งคั่ง ฯลฯ
ราชกรณียะอันใด พระองค์เจ้าก็ได้ขวนขวายหาทำจนสำเร็จหมดสิ้นแล้วในชีวิตของความเป็นกษัตริย์
พระพุทธเจ้า จึงตรัสถาม พระเจ้าปเสนทิโกศล โดยจะเล่าอย่างย่อ
พระพุทธเจ้า ถามว่า…
หากบัดนี้มีข้าราชการในพระองค์มา 4 นาย กล่าวต่อหน้าพระพักตร์ตรงกันทั้ง 4 นาย ว่า ภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ กำลังกลิ้งบดปวงสัตว์มา
“…ดูก่อน มหาบพิตร เมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ทำให้มนุษย์พินาศใหญ่โตถึงเพียงนี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ อะไรเล่า ที่พระองค์จะพึงทรงกระทำในภาวะแห่งมนุษย์ที่ได้แสนยาก…”
พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงตอบกลับไปว่า…
“…ครั้น เมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ทำให้มนุษย์พินาศอันใหญ่โตถึงเพียงนั้น บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน อะไรจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันพึงกระทำในภาวะแห่งมนุษย์ที่ได้แสนยากเล่า นอกจาก การประพฤติธรรม นอกจาก การประพฤติสม่ำเสมอ นอกจาก การสร้างกุศล นอกจาก การทำบุญ…”
พระพุทธเจ้า เมื่อได้ยินพระราชาตอบเช่นนั้น จึงยิงคำถามที่สองกลับไปว่า…
“…แล้วถ้าเมื่อ ‘ชรามรณะ‘ ครอบงำพระองค์อยู่ อะไรเล่า จะพึงเป็นกิจที่มหาบพิตรพึง กระทำ…”
พระเจ้าปเสนทิโกศล ตอบกลับทำนองเดียวกันว่า…
“…เมื่อชรามรณะ ครอบงำหม่อมฉันอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรจะทำ นอกจากการประพฤติธรรม นอกจากการประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ…”
พร้อมกับอธิบายให้กับ พระพุทธเจ้า ฟังโดยทำนองว่า เมื่อ ชรามรณะ มาปรากฏเบื้องหน้าอันไม่ใกล้ไม่ไกลแล้ว สมบัติพัสถาน แก้วแหวนเงินทอง ช้างมาวัวควาย ไพร่พลและราษฏร ที่มีอยู่ก็ล้วนเป็นของเปล่าประโยชน์ ฯลฯ
พระพุทธเจ้า จึงตรัสรับรองทิฐิของ พระเจ้าปเสนทิโกศล ว่า…
“…ถูกแล้ว ๆ มหาบพิตร…”
พระองค์ อุปมา ภูเขาหินลูกใหญ่เทียมฟ้าที่กลิ้งมาบดสัตว์บนปฐพี ฉันใด ชรามรณะ ก็ฉันนั้น มนุษย์ถึงที่สุดแห่งโลกแล้วก็ไม่พ้น ชราและมรณะ พระพุทธเจ้า แสดงธรรมให้เกิดสติว่า ความแก่และความตายเป็นของเที่ยง อย่าประมาทแม้ถึงที่สุดแห่งทางโลก เมื่อยังมีชีวิตอยู่ กิจอื่นไม่มีแล้ว แต่กิจเหล่านี้ยังมีอยู่
ได้แก่:
- ธมฺมจริยาย – หมั่นประพฤติธรรม
- สมจริยาย – ทำให้สม่ำเสมอ
- กุสลกิริยาย -ไม่เผลอลืมสร้างกุศล
- ปุญฺญกิริยาย – และหมั่นทำบุญเป็นประจำ
พระพุทธเจ้า ปิดท้ายบทสนทนานี้
“…เพราะฉะนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมและในพระสงฆ์ ผู้ใดมีปรกติประพฤติธรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้น ในโลกนี้นั่นเทียว ผู้นั้นละโลกนี้ไป ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ฯ…”
– พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
อ่านพระสูตรเต็ม ที่นี่