เมื่อ เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตัดสินใจที่จะประกาศธรรมที่ตรัสรู้ ได้ใคร่ครวญมนุษย์กลุ่มแรกที่พระองค์จะเดินทางไปแสดงธรรม รายชื่อแรกที่ปรากฏ ได้แก่ อาฬารดาบส และ อุทกดาบส ผู้เป็นอดีตอาจารย์ของพระองค์สมัยก่อนตรัสรู้
แต่เมื่อตรวจสอบลงไปอีกก็พบว่า อาจารย์ทั้งสองได้สิ้นอายุขัยจากความมนุษย์ไปแล้ว พระพุทธเจ้า จึงได้นึกถึงกลุ่ม ปัญจวัคคีย์ ที่เคยอุปการะดูแลสมัยพระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา และทั้ง 5 รูปยังมีชีวิตอยู่ดี จึงตัดสินใจที่จะแสดงธรรมแก่กลุ่ม พระปัญจวัคคีย์
กลุ่มพระปัญจวัคคีย์ แสดงความไม่ให้เกียรติพระพุทธเจ้า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เสด็จเข้าไปทางสำนักพระปัญจวัคคีย์
พระปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้นัดหมายกันและกันว่า ท่านทั้งหลาย พระสมณะโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนา ก็จักประทับนั่ง
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้นไม่ตั้งอยู่ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะ ที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท
ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์เรียกพระผู้มีพระภาคโดยระบุพระนาม และใช้คำว่า ‘อาวุโส’ เมื่อพระปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสห้ามพระปัญจวัคคีย์ ว่า:
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า ‘อาวุโส’ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาค ว่า:
อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า
เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัส ว่า:
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านถึงสามครั้ง
พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสประโยคเดิมทั้งสามครั้ง และได้ตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อน แต่กาลนี้”
พระปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า “คำนี้ไม่เคยได้ฟังเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัส ว่า: ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จักแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้พระปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว ลำดับนั้นพระปัญจวัคคีย์ ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง
แสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ ว่า:
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑, การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน นั้นเป็นไฉน?
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แล คือ
- ปัญญาอันเห็นชอบ ๑
- ความดำริชอบ ๑
- เจรจาชอบ ๑
- การงานชอบ ๑
- เลี้ยงชีวิตชอบ ๑
- พยายามชอบ ๑
- ระลึกชอบ ๑
- ตั้งจิตชอบ ๑
อธิบายความหมายแต่ละข้อโดยละเอียด: พระพุทธเจ้า อธิบาย อริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ละองค์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ — โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับโดยไม่เหลือ ด้วยมรรค คือ วิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิทยา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว
ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ (สัจจญาณ กิจญาณ และ กตญาณ) มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้ว เพียงใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเรา ในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ หมดจดดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป
ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า
“…สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา…”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า:
“…อัญญาสิ วะตะโภ โกณฑัญโญ, อัญญาสิ วะตะโภ โกณฑัญโญ…” — ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ
เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะ นี้ จึงได้เป็นชื่อ ของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้
ที่มา: พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑