สิ่งที่ท้าทาย พระพุทธเจ้า หลังกาตรัสรู้ จะทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าใจพระธรรมที่ตรัสรู้ และการทำให้พระธรรมคำสอนตั้งมั่นและแพร่หลายขึ้นบนโลกโดยเร็วที่สุด บทความนี้จะสรุปเหตุการณ์ พระพุทธเจ้า ทำงานเผยแผ่ธรรมะในช่วง 3 – 5 ปีแรก หลังการตรัสรู้
ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือ วันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ; เจ้าชายสิทธัตถะ ในวัย 35 ปี เมื่อตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว พระองค์ได้เข้าถึงความจริงแห่งธรรมชาติอันไม่มีประมาณ และได้จำแนกธรรมออกเป็นภาค ๆ ส่วน ๆ อุปมากับการ ‘แพ็กเกจเป็นผลิตภัณฑ์แห่งธรรม’ ให้คนนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย
อาทิ:
- อริยสัจ ๔
- มรรคมีองค์ ๘
- กุศลกรรมบถ ๑๐
- มงคล ๓๘
- กรรมฐาน ๔๐
เป็นต้น ฯลฯ อีกมากมายนับไม่ถ้วน; และแม้พระองค์ จำแนกข้อธรรมที่ตรัสรู้เป็นระบบระเบียบอย่างดีแล้ว แต่เนื่องจากธรรมะเป็นของใหม่ เป็นของที่โลกยังไม่เคยรู้จัก และยากจะเชื่อในสมัยนั้น จึงต้องหาบุคคลที่จะใช้ทำการทดสอบพิสูจน์ว่า ผลิตภัณฑ์แห่งธรรมะ เป็นของดี มีคุณภาพ และใช้ได้ผลจริง
มองหาผู้มีศักยภาพที่เข้าใจ กลุ่มแรก
พระพุทธเจ้า จึงดำริแสวงหาคัดเลือกบุคคลต้นแบบ อุปมาอุปมันกับศัพท์สมัยใหม่ในวงการเทคโนโลยีหรือธุรกิจสตาร์ทอัพ คือ มาเป็น User รุ่น Early adopter ให้กับธรรมะของพระองค์ และกลุ่มเป้าหมายที่ยังมีชีวิตอยู่และดูมีศักยภาพมากที่สุด ณ ขณะนั้น ได้แก่ กลุ่มนักบวชปัญจวัคคีย์ 5 รูป
พระพุทธเจ้า จึงออกเดินทางไปหากลุ่มนักบวชปัญจวัคคีย์ ที่ ป่าอิสิปมฤคทายวัน เมื่อเดินทางไปถึงสถานที่ของ ปัญจวัคคีย์ ก็ประสบอุปสรรคเล็กน้อย ได้แก่ ปัญจวัคคีย์ ไม่เคารพพระองค์ กล่าวหาว่าท่านเคยเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยาและอดอาหาร และเวียนกลับมาเป็นคนมักมากรักสบาย เป็นต้น แต่เมื่อ พระพุทธเจ้า เจรจาสำเร็จ กลุ่มปัญจวัคคีย์ จึงตกลงรับฟังธรรม
ธรรมะที่แสดงในครั้งนั้นเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันประกอบไปด้วยหลัก อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุหทัย นิโรธ และมรรค เป็นต้น
พิสูจน์สำเร็จว่าของจริง
เมื่อฟังจบ, โกณฑัญญะ ผู้เป็นทั้งอดีตอาจารย์เจ้าชายสิทธัตถะ และหัวหน้ากลุ่มปัญจวัคคีย์ ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ก้าวพ้นปุถุชนภูมิ กลายเป็นอริยบุคคลลำดับที่ 1 คือ โสดาบัน พร้อมเปล่งอุทานว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา”
พระพุทธเจ้า ตรัสรับรองว่า
“โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”
จากนั้น โกณฑัญญะ ทูลขอบวช พระพุทธองค์ รับรองการบวชโดยกล่าวว่า
“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทําที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”
เป็นอันว่า ศาสนาพุทธประดิษฐานขึ้นบนโลกครบองค์อย่างเป็นทางการ ได้แก่ มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดยมี โกณฑัญญะ เป็นพระรูปแรกของศาสนาพุทธ และตามด้วยสมาชิกอีก 4 รูปที่เหลือก็ ขอบวชตาม
ต่อมา ท่านโกณฑัญญะ ได้รับขนามนามว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ แปลว่า โกณฑัญญะผู้รู้ และเป็นเอตทัคคะ หรือ เป็นเลิศด้านผู้รู้ราตรีนาน เพราะเป็นผู้บวชก่อนใครในโลก ในทางสงฆ์ถือว่าจะไม่มีภิกษุใดอาวุโสกว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เลย เป็นต้น
ขยายฐาน User อย่างแยบคาย
เมื่อหัวหน้ากลุ่มบวช อีก ๔ ท่านก็บวชตาม และเวลาต่อมาก็บรรลุอรหันต์ทั้งหมด เป็นอันว่า ธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าประกาศเป็นของดี มีคุณภาพสูง นำไปใช้ได้ผลจริง พระองค์จึงเดินหน้าแสดงธรรมโปรดผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งโดยมากเป็นผู้นำกลุ่มที่มีคนในมือจำนวนหนึ่ง เมื่อผู้นำบรรลุธรรมและออกบวช ผู้คนในมือที่ติดตามผู้นำกลุ่มก็บวชตามโดยปริยาย
การทำเช่นนี้ถือเป็นหลักการ Leverage แปลว่า ทำน้อยให้ได้มาก โดยอาศัยเข้าทางหัวหน้าหรือผู้นำที่มีสาวกผู้ติดตามในมืออยู่แล้ว จึงเพียงชักชวนให้สำเร็จเพียงคนเดียวก่อน แล้วทั้งคณะที่เหลือก็จะได้ตามมาโดยง่าย
ครั้งนั้น ธรรมะ ของพระตถาคตพิสูจน์แล้วว่าใช้การได้จริง สามารถสร้างพระอรหันต์สาวกรุ่นแรกจำนวน 60 รูป จึงประกาศให้ภิกษุทั้งหลายจงนำธรรมะที่พระองค์แสดงไว้ออกไปประกาศ และกำชับว่าจงอย่าไปทางเดียวกัน 2 รูป
กล่าวคือ พระองค์สร้างตัวแทนแห่งพระธรรมรุ่นบุกเบิก และรับสั่งให้กระจายกันไปประกาศธรรมะให้ทั่วถึง
ขยายฐานสู่ระดับมหาชนอย่างชาญฉลาด
ต่อมา เป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้แคว้นและเมืองมหาอำนาจมาเป็นสาวก
สมัยนั้น คือ แคว้นมคธ ปกครองโดย พระเจ้าพิมพิสาร
แต่การที่ พระตถาคต พระองค์เดียวจะบุกเดี่ยวไปประกาศธรรมะอันเป็นของใหม่เอี่ยมของโลกแก่ผู้คนในแคว้นมหาอำนาจไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย พระองค์ จึงเดินทางไปหากลุ่มนักบวช ชฏิล นำโดย อุรุเวละกัสสปะ เปรียบเสมือนเป็นหัวหน้าใหญ่มีสาวกในมือนับพัน และเป็นอาจารย์ที่เคารพยิ่งของ พระเจ้าพิมพิสาร นั่นเอง
พระตถาคต แสดงธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งจนทำให้ผู้นำนักบวชชฏิล เลื่อมใสศรัทธาในพระธรรม เมื่อหัวหน้าใหญ่อย่าง อุรุเวละกัสสปะ ขอบวช ที่เหลือก็บวชตามทั้งคณะ ครั้งนั้น พระตถาคต ได้ภิกษุใหม่เพิ่มทันที 1,003 รูป
ลำดับต่อมา พระคถาคต เห็นว่าอดีตกลุ่มชฏิลเดิมเป็นพวกบูชาไฟ จึงเลือกใช้ ‘อาทิตปริยายสูตร‘ คือใช้ ‘ไฟ’ เป็นสื่อกลางในการแสดงธรรม กล่าวสรุปโดยย่อว่า
อุปทานขันธ์ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของร้อนดั่งไฟ การถอนออกจากอุปทานเหล่านี้ คือ ความดับเย็น เป็นต้น ฯลฯ
อดีตกลุ่มชฏิลทั้ง 1,003 รูปจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ณ โอกาสนั้นโดยใช้ ‘ไฟ’ มาเปรียบเทียบแสดงธรรม คราวนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้าพิสูจน์อีกครั้งว่าได้ผล และได้ผลระดับเกือบใหญ่ขึ้น คือ คราวละพันคน เป้าหมายต่อไปนี้ก็จะเป็นคราวละหมื่นคนบ้าง
มุ่งหน้าสู่แคว้นมคธ
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบการมาของ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธะ จึงพาคณะและประชาชนนับหมื่นชีวิตเข้าเฝ้า
พระพุทธเจ้า ให้เกียรติ พระอุรุเวละกัสสปะ ผู้เป็นที่เคารพของพระราชาและชาวมคธ แสดงนำก่อน
พระอุรุเวละกัสสปะ แสดงนำโดยการกล่าวสรรเสริญพระธรรม แล้วก้มกราบพระพุทธต่อหน้ามหาชนเพื่อส่งต่อให้พระพุทธเจ้าดำเนินธรรมต่อ
พระพุทธเจ้าจึงทำการแสดงธรรมอย่างไพเราะ
พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองนับหมื่นเกิดดวงตาเห็นธรรมมากน้อยไปตามอินทรัพย์ เกิดปัญญา เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและต่างประกาศตนขอถึงพระรัตนตรัย
ด้าน พระเจ้าพิมพิสาร ประกาศยกสวนป่าไผ่ให้แก่ศาสนาพุทธ ตั้งชื่อว่า เวฬุวันอาราม วัดแห่งแรกในศาสนาพุทธจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ บัดนั้น
เหตุการณ์โดยย่อลำดับต่อมา:
สารีบุตร และ โมคคัลลานะ มาขอบวชและบรรลุอรหันต์ทั้งคู่
พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เป็นเลิศด้านปัญญา และมีฐานะเป็น ธรรมเสนาบดี หรือแม่ทัพธรรมที่แสดงธรรมได้ลึกซึ้งเกือบเท่าพระพุทธเจ้า เป็นกำลังในการเกณฑ์คนใหม่เข้ามาบวช ด้านพระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นเลิศด้านฤทธิ์ เป็นกำลังสำคัญในการขยายอารามในศาสนาพุทธ
เหตุการณ์ครั้งนั้น พระตถาคต ได้แม่ทัพแห่งธรรมอันเป็นเลิศทั้งซ้ายและขวาสำเร็จแล้ว
ลำดับต่อมาอีก
คณะสงฆ์ เริ่มมีจำนวนมาก จึงเกิด โอวาทปาติโมกข์ หลักธรรมมาตราฐานสากลของการเป็นนักบวชในศาสนาพุทธ และเปลี่ยนวิธีการบวชให้ภิกษุบวชให้แก่ผู้มาขอบวชกันเองได้ ฯลฯ
มุ่งสู่กรุงกบิลลพัสดุ์
เมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่แล้ว มีภิกษุผู้เป็นเลิศเป็นอันมาก มีอัครสาวกซ้ายขวา ฯลฯ พระตถาคต จึงเดินทางไปยัง กบิลลพัสดุ์ ที่เป็นบ้านเกิดของต้นตระกูล โปรดหมู่ญาติ และชาวเมือง
ครั้งนั้น เจ้าชายและลูกคนรวยแห่งกบิลลพัสดุ์ เลื่อมใสศรัทธามีดวงตาเห็นธรรมและขอออกบวชเป็นอันมาก เจ้าชายแห่งตระกูลศากยะ ออกบวชหลายท่านและบรรลุธรรมขั้นสูง เป็นมหาสาวกผู้เป็นเลิศไปต่าง ๆ นา ๆ ยกเว้นพระเทวทัต
ทางด้าน พระมหาปชาบดีโคตมี แม่นมของพระพุทธเจ้าบวชเป็นภิกษีณีรูปแรก ในขณะที่ พระเจ้าสุทโธทนะ บิดาของพระพุทธเจ้า ไม่ได้บวชแต่บรรลุธรรมขั้นสูง ก้าวพ้นปุถุชนภูมิเป็นอริยบุคคล
ต่อจากนั้นเกิด มหาอุบาสกและมหาอุบาสิกา ได้แก่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสก สร้างวัดเชตวันมหาวิหาร ถวาย สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด และนางวิสาขา มหาอุบาสิกา สร้างวัดบุพพาราม ถวาย โดดเด่นเรื่องฝึกนักบวชและสร้างพระอรหันต์จำนวนมาก
ถึงจุดนี้ ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 – 5 ปี นับจากวันตรัสรู้ด้วยพระองค์เดียวที่ใต้ต้นโพธิ์กลางป่า มาสู่การสถาปนาและปักรากศาสนาพุทธให้เติบใหญ่มั่นคง มีเครือข่ายสมบูรณ์ มีหัวหน้าเครือข่ายที่มีอำนาจมาก ฯลฯ
เรื่องราวนี้ แม้บุคคลอาจไม่สนใจในส่วนพระธรรมคำสอนก็ยังนับว่ามีประโยชน์ต่อการเรียนรู้
พระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของผู้นำ นักบริหาร และนักกลยุทธ์ที่น่า เอหิปัสสิโก หรือ น้อมเข้ามาดู เข้ามาเรียนรู้หลักการทำงานของท่าน
อริยบุคคลที่ใช้เวลา 45 ปีในการก่อตั้งองค์กรที่มีอายุยืนยาวมากกว่า 2500 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะยืนหยัดต่อไปอีกยาวนานตราบใดที่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ยังคงถูกสอนอยู่บนโลกใบนี้