อะไร ๆ ก็ทุกข์ : ทำไม พระพุทธเจ้า ตรัสแต่ความทุกข์

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email

ตลอด ๔๕ พรรษาของการเผยแผ่ธรรมะ พระพุทธเจ้า มักตรัสสอนเรื่องความทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์, ชีวิตเป็นทุกข์, โลกเป็นทุกข์ ฯลฯ จนทั้งคนไทยบางกลุ่ม และฝรั่งจำนวนไม่น้อย เกิดความสงสัยว่า พระพุทธเจ้า มองโลกในแง่ร้ายเกินไปหรือไม่, คิดลบเกินไปหรือไม่, หรือแม้กระทั่งสงสัยว่า พระองค์ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

ก่อนอื่น คำว่า ‘ทุกข์’ ในความเข้าใจทั่วไป คือ ไม่มีความสุข

ภาษาอังฤษแปลบาลีคำว่า ‘ทุกขัง’ ว่า Suffering ซึ่งแปลเป็นไทยจะได้อารมณ์ประมาณ ทุกข์ระทม ตรอมตรม เจ็บปวด ทุรนทุราย เมื่อกล่าวว่า Life is suffering ต่างชาติบางกลุ่มอาจคิดว่า พระพุทธเจ้า เครียดอะไรกับชีวิตมากไปไหม

เรามาทำความเข้าใจคำว่า ทุกข์ ในพระพุทธศาสนากัน

ทุกฺข หรือ ทุกขัง ความหมายในบาลีแปลว่า สภาวะธรรมชาติ หรือ สภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติเด่น คือ ทนอยู่ไม่ได้, ทนอยู่ไม่นาน, ทนอยู่ได้ยาก, มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ฯลฯ

ทุกขัง จึงเป็นอาการหรือสภาวะชนิดหนึ่งในธรรมชาตินี้

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเข้าใจง่าย แต่ตลอดกาลอันยาวนานก่อนโลกจะมีพระธรรมคำสอน หรือแม้แต่หลังโลกมีพระธรรมคำสอนแล้ว มนุษย์ทั่วโลกที่ไม่ได้สดับก็ดี, ยังคิดไม่ได้-คิดไม่ทัน-คิดไม่ถึงก็ดี, หรือไม่คิดถึงมันเลยก็ดี ยากที่จะมีสติรู้เท่าทันว่าชีวิตพวกเขาประสบ ‘ทุกขัง’ อยู่ตลอดเวลานับแต่เกิดมาบนโลกนี้

มนุษย์จำนวนมากล้วนสร้างความคาดหวังในใจว่า พวกเขาจะเป็นหนุ่มสาวที่แข็งแรงตลอดไป, คาดหวังว่าอาชีพที่กำลังทำอยู่นั้นจะมั่นคงตลอดไป, คาดหวังว่าความรักครั้งนี้จะนิรันด์ตลอดไป ฯลฯ

ความคาดหวังทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นความคาดหวังบนสิ่งที่มี ‘ทุกขัง’ เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ความสมปรารถนาที่น่าพอใจตลอดไป จึงไม่เคยมีตลอดชั่วชีวิตของบุคคลใดก็ตามที่ไม่หมั่นพิจารณาธรรมชาติข้อนี้ด้วยปัญญา

แต่ยังไม่จบแค่นี้ ยิ่งกว่านี้ยังมีอีก

เมื่อไม่พอใจในสิ่งนี้ ๆ แล้ว ก็ละออกจากมัน แต่เป็นการละออกไปเพื่อวิ่งหาสิ่งใหม่ ด้วยความคาดหวังแบบเดิม คือ มันจะทำให้เขามีความสุข ความสมปรารถนาอย่างถาวรได้นั่นเอง นี่คือความหมายของอาการ การสร้างภพ สร้างชาติ ในทางพุทธศาสนา ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ‘ความเกิดเป็นทุกข์

  • ความเกิดในที่นี้ คือ การเกิดขึ้นของภพ เปรียบเสมือนผืนนาอันเป็นที่ตั้งของวิญญาณ
  • เมื่อมีภพเป็นที่ตั้งให้วิญญาณเจริญงอกงาม จึงมีชาติเป็นแผ่นดินให้ดำเนินไป
  • เมื่อมีชาติให้ดำเนินไป ท้ายที่สุดย่อมดำเนินไปสู่ความเสื่อม แตกดับ คือ ชราและมรณะ
  • และเพราะบุคคลยังไม่ยอมหยุด เมื่อชรามรณะแล้วก็สร้างภพให้มีการเกิดขึ้นมาใหม่

แล้ววิญญาณมาจากไหน

วิญญาณ คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เกิดจาก ผัสสะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปกระทบ รูป แล้วเกิดการรับรู้ การรับรู้จะถูกปรุงแต่งเป็นอารมณ์ต่าง ๆ เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ โดยสังขารขันธ์ จดจำอารมณ์เหล่านั้นได้ด้วย สัญญาขันธ์ และตัดสินว่าชอบหรือไม่ชอบโดย เวทนาขันธ์ ฯลฯ

กระบวนการทั้งหมดนี้ เรียกสั้น ๆ ว่า ‘กรรม’

โดย พระพุทธเจ้า ตรัสชัดเจนดังนี้:

“…ภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม เพราะว่าบุคคลเจตนาแล้วย่อมกระทำซึ่งกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ […] ภิกษุทั้งหลาย, เหตุเป็นแดนเกิดพร้อมแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดพร้อมแห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ…”

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)

ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เป็น ทุกขัง ทั้งสิ้น

คือ ทนอยู่ไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เจริญงอกงามขึ้นขณะหนึ่ง แล้วก็เสื่อมสลายไป ทั้งอารมณ์ที่เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี รวมไปถึง ร่างกายของบุคคล วัตถุสิ่งของ อาคารบ้านเรือน แม้แต่โลก แม้แต่จักรวาล ก็เป็น ทุกขัง มีการเกิด เสื่อม ดับ ทั้งสิ้น พระพุทธเจ้า เห็นกฏนี้จึงประกาศว่าให้บุคคลพึงถอนความมีใจยึดติดออกจากสิ่งเหล่านี้ เพราะมันไม่เป็นสรณะให้ผู้ใดได้

แล้วถ้าเราถอนความมีใจยิดติดออกจากทุกสิ่งแม้แต่ความสุข แล้วเรายังจะมีความสุขหรือไม่?

เป็นสิ่งที่บางคนกลัว เพราะบุคคลใช้ชีวิตบนการยึดจับอะไรบางอย่างมาโดยตลอด จึงจินตนาการไม่ออกว่าชีวิตที่ไม่มีอะไรให้เอาใจไปยึดจะมีความสุขจากอะไร

จริง ๆ การจะถอนความยึดติดจากสิ่งต่าง ๆ จะต้องลงมือปฏิบัติฝึกสมาธิจิตเพื่อให้มีปัญญามองเห็นความไม่เที่ยงของธรรมชาติทั้งหมด เมื่อมีปัญญาแล้ว ใจจะถอนความยึดได้เอง ส่วนจะถอนมากถอนน้อย ทยอยถอนก็แล้วแต่กำลังของแต่ละคน

เมื่อจิตที่ฝึกดีแล้วถอนความยึดติดออกมาได้ จะได้ตัวธรรมชาติอีกอย่างเข้ามาแทน คือ ‘วิมุตติ’

วิมุตติ เป็นความหลุดพ้น เป็นสภาวะอันทั้ง ‘ความอยาก’ และ ‘ความไม่อยาก’ ล้วนไม่เกิด แต่ก็ไม่ใช่อารมณ์เฉย ๆ หรือเซ็ง ๆ ความเซ็งก็ไม่มี กล่าวคือ ไม่มีความเกิดใดในขณะจิตนั้น และ ณ ตลอดกาลใดที่ไม่มีความเกิด ตรงนั้นเป็นสุขโดยปริยาย

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email