บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คืออะไร

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email

บุญกิริยาวัตถุ 10 มีอะไรบ้าง? ก่อนอื่นขอท้าวความ บุญ ในบาลีเรียกว่า ปุญฺญ เป็นธรรมชาติที่เบาบางจาก ‘กิเลส’ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ เป็นต้น เป็นธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ เวลาใดที่จิตใจเบาบางจากกิเลส เวลานั้นย่อมมีความปลอดโปร่ง โล่งสบาย มีความสุขมาก และมีสติปัญญาที่จะใช้ทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างมาก อาการนี้เรียกอีกอย่างว่า ความเป็นกุศล

การทำบุญจำแนกออกเป็น 3 หมวดใหญ่จำง่าย ๆ ได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา โดยพระพุทธเจ้าแยกย่อยให้อีกเป็นข้อ ๆ เป็น 10 วิธีทำ ที่สามารถน้อมนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ง่ายแสนง่าย เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ดังนี้

ทานมัย

แปลว่า การให้ทาน เป็นบุญที่กระทำโดยการสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปันปัจจัยของตนเพื่อการอนุเคราะห์ประโยชน์แก่ผู้อื่น อาทิ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ โดยไม่คาดหวังให้เขาเหล่านั้นต้องตอบแทนตนกลับคืน

การให้ทานแบบนี้เป็นการลดความเห็นลดความเห็นแก่ตัว ลดความตระหนี่ถี่เหนียว และความคับแคบในจิตใจให้น้อยลง ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง โล่งสบาย และพัฒนาไปสู่ความมีจิตใจกว้างขวาง เป็นภาชนะพร้อมรองรับทรัพย์ที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต

สีลมัย

แปลว่า การรักษาศีล โดยขั้นต่ำ คือ ศีล ๕ ได้แก่ ไม่พรากชีวิตสัตว์อื่น, ไม่เอาของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้, ไม่ประพฤติผิดในกาม, ไม่พูดโกหก หยาบคาย ส่อเสียด เพ้อเจ้อ, และไม่เสพของมึนเมา

ศีล คือ เครื่องจำแนกระหว่าง มนุษย์ กับ สัตว์ หากมนุษย์ใดไม่มีศีลเลยแม้แต่ข้อเดียว มีแต่ความประพฤติเลวทรามต่าง ๆ นา ๆ บุคคลนั้นย่อมอาจถึงขั้นดำรงชีวิตใกล้ความเป็นสัตว์เดรัจฉานในบางมิติ อาทิ ต้องใช้ชีวิตอยู่บนความหวาดกลัว กลัวถูกแย่งชิงของรัก กลัวถูกล้างผลาญชีวิต อาการเหล่านี้ล้วนเกิดจากการผิดศีลอย่างหนักนั่นเอง

สำหรับ บุคคล ที่รักษาศีลครบถ้วนอย่างดีมาโดยตลอด ชีวิตจะมีความสุขกายสุขใจมาก จะมีความปลอดโปร่ง เบิกบาน สว่างไสว ส่งผลให้จิตใจมีความละเอียดนุ่มนวลควรแก่งาน… งานที่ว่านั้น คือ งานภาวนา

ภาวนามัย

แปลว่า การเจริญภาวนา เช่น การฝึกสติ การนั่งสมาธิ และการวิปัสสนา เพื่อให้เข้าถึงธรรมอันเอียดลึกซึ้งที่โดยปกติไม่อาจเข้าถึงหรือเข้าใจได้ด้วยการดู การฟัง หรือการคิดด้วยสมอง แต่จะรู้ได้ด้วย ภาวนามยปัญญา หรือ ตาธรรม นั่นเอง

และการจะปฏิบัติภาวนามัยได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยบุญจากการให้ทาน และการรักษาศีลเป็นเครื่องช่วยปฏิบัติอีกด้วย ดังนั้น ทาน ศีล และภาวนา จึงเป็นบุญที่เกื้อกูลกัน

พระพุทธเจ้า ยกให้ ภาวนามัย เป็นบุญสูงสุด เพราะในระหว่างนั่งสมาธิจนจิตสงบหรือเป็นฌานแล้ว กิเลส จะเบาบางมากที่สุดเมื่อเทียบกับการทำบุญชนิดอื่น ๆ จิตจึงเป็นกุศลอย่างยิ่งยวดนั่นเอง

อปจายนมัย

แปลว่า การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการทำบุญที่ง่ายแสนง่าย แต่คนจำนวนไม่น้อยอาจไม่รู้ว่านี่คือการทำบุญชนิดหนึ่ง ความอ่อนน้อมถ่อมตนสัมพันธ์กับ ศีลข้อ 4 คือ มุสาวาทาฯ เพราะความประพฤติอ่อนน้อม ช่วยยับยั้งการกระทบกระทั่งกันทางวาจาได้ดี เพราะผู้คนรักใคร่เอ็นดู ไม่เกิดการพูดจาส่อเสียด หยาบคายจากการทะเลาะกัน จิตใจจึงห่างไกลจาก โทสะ ตามลำดับ

พระอาจารย์ผู้รู้ ยังกล่าวอีกว่าอานิสงค์จากความ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ส่งผลให้ผู้ประพฤติธรรมข้อนี้ได้บังเกิดในตระกูลสูง หรือเป็นที่ได้รับความเคารพรัก และให้เกียรติจากมหาชนอีกด้วย

เวยาวัจจมัย

แปลว่า การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ เป็นการเอาแรงกายเข้าให้ความช่วยเหลือสังคมโดยรอบ อาทิ การร่วมกิจการปรับปรุงทัศนิยภาพของสถานที่สงฆ์ หรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

หรือแม้แต่การช่วยกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานให้ลุล่วงด้วยดี เหล่านี้ล้วนเป็นการทำบุญทั้งสิ้น โดยในหมู่พระภิกษุเองก็เรียกกิจกรรมทำความสะอาดและปรับปรุงพื้นที่ของวัด ว่าเป็นการ ‘ไปรับบุญ’ เช่น รับบุญล้างห้องน้ำ รับบุญล้างจาน เป็นต้น

พระอาจารย์ผู้รู้ อธิบายว่า เมื่อเราตั้งใจทำความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้องน้ำก็ดี ที่รับรองแขกก็ดี จนสะอาดเอี่ยมอ่อง แขกผู้มาเยือนย่อมเกิดความรู้สึกเบิกบานใจ อุทานในใจว่า สถานที่แห่งนี้สะอาดจริงหนอ สบายจริงหนอ น่าอยู่จริงหนอ ความเบิกบานใจนั่นเองที่เป็น กุศล บุญจึงเกิดด้วยประการเช่นนี้

ปัตติทานมัย

แปลว่า การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา กล่าวคือ บุญ เป็นสิ่งที่ผู้ใดทำ ผู้นั้นก็ได้ไป อุปมาอุปมัย เราทำบุญคนเดียว ก็ได้รับผลคนเดียวเปล่าเปลี่ยวไร้หมู่คณะ

แต่หากเราชักชวนผู้อื่นมาร่วมบุญ นอกจากกิจอันเป็นกุศลจะสำเร็จเร็วขึ้นแล้ว พระอาจารย์ผู้รู้ยังบอกว่า การชักชวนผู้อื่นมาร่วมทำบุญกันเป็นหมู่คณะ ให้อานิสงค์แก่ผู้ชักชวนให้อุบัติเป็นบุคคลผู้มีบริวารมากในอนาคตเป็นของแถม

ปัตตานุโมทนามัย

แปลว่า การอนุโมทนาส่วนบุญ กล่าวคือ ในกรณีที่เราไม่มีโอกาสได้ไปร่วมบุญกับผู้ชัดชวน แต่เราสามารถได้รับส่วนในบุญนั้นได้โดยการกล่าวร่วมแสดงความยินดี ซึ่งเป็นไปตามหลัก พรหมวิหาร ๔ คือ มีมุทิตาจิต คิดยินดีเมื่อผู้อื่นทำดีหรือได้ดี โดยไม่มีความอิจฉาริษยาอยู่ในใจ

ธรรมสวนมัย

แปลว่า การฟังธรรม กล่าวคือ ธรรมะ มีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ และ ภาษาธรรม ก็เป็นปิยวาจา ไม่มีมุสาวาทาเลย ดังนั้นการฟังธรรมจึงมีแต่เรื่องให้จิตใจเบิกบาก ควบคู่ไปกับการเกิดความรู้ และปัญญาเห็นข้อเท็จจริงอันถูกต้องต่อไป

ธัมมเทสนามัย

แปลว่า การแสดงธรรม คล้ายการฟังธรรม คือ มีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ และ ภาษาธรรม ก็เป็นปิยวาจา ไม่มีมุสาวาทาเลย ใจของผู้แสดงธรรมจึงมีแต่กุศล และสิ่งที่แถมมา คือ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่น เรียกว่า ธรรมทาน โดยพระพุทธเจ้ากล่าวชื่นชมว่า การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง อานิสงค์ของ การฟังธรรม และ การแสดงธรรม ยังส่งผลให้ผู้ทำบุญข้อนี้อุบัติเป็นผู้มีปัญญามาก และสอนตัวเองได้ในกาลภายหน้า

ทิฏฐุชุกรรม

แปลว่า การทำความเห็นให้ถูกต้องตามหลักธรรม หรือ การมีสัมมาทิฐิ นั่นเอง ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญมาก เพราะ สัมมาทิฐิ คือ ปฐมบทของอริยมรรคมีองค์ ๘ หากมนุษย์เห็นผิด ชีวิตที่เหลือก็จะผิดทั้งหมด และโทษของความเห็นผิด หรือ มิจฉาทิฐิ นั้นร้ายแรงอุปมาอุปมันดั่งตกสู่ ‘โลกันตนรก’ หรือ นรกขุมสุดท้าย ซึ่งมีแต่ความมืดมิดหาแสงสว่างมิได้นั่นเอง

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email