เข้าวัดทำบุญ ทำทานบ่อย แต่ปากร้าย ทุศีล ได้บุญหรือไม่

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email

ตอบแบบเร็ว ๆ ว่า ‘บุญส่วนบุญ บาปส่วนบาป’

ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประกอบด้วย ทาน ศีล และภาวนา (หรือสมาธิ / สมาธิภาวนา) โดย พระพุทธเจ้ารับรองว่า ‘ทาน’ เป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุที่ควรกระทำให้มาก เพราะเป็นอุบายฝึกละความตระหนี่ในจิตใจของตน ฝึกละความเห็นว่าเป็นตัวเราของเรา

จิตใจที่ค่อย ๆ เบาบางจากความตระหนี่ จะเกื้อกูลต่อการฝึกรักษาศีลและฝึกเจริญสมาธิภาวนายิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก แต่หากบุคคลไม่ใช้โอกาสนี้เพื่อฝึกให้เจริญในศีล และเจริญในสมาธิภาวนา ทานทั้งหลายที่เพียรทำไปก็จะให้ผลแค่ในส่วนของทาน

พระพุทธเจ้า จึงสอนต่อไปว่า แม้ทำทานทุกวันตลอด 100 ปี อานิสงค์ยังไม่เท่ารักษาศีลห้าบริบูรณ์เป็นเวลา 1 วัน!

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะ ‘ทาน’ เป็นบุญกิริยาวัตถุที่ทำง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้ แม้แต่โจรผู้ร้ายก็ทำได้ ทำทานเสร็จจะไปทำชั่วต่อทันทีก็ยังได้ถ้าคนเหล่านั้นไม่ฝึกให้เจริญในศีล ฉะนั้น การหมั่นทำทานเป็นประจำ แต่ใช้ชีวิตทุศีลเป็นอาจินต์ไปพร้อมกัน

เช่น ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ผิดลูกเมียชาวบ้าน, และการก่อวจีกรรม เช่น มักพูดโกหก หยาบคาด ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ รวมไปถึงมัวเมาในสิ่งเสพติดมึนเมาทั้งหลาย ผู้กระทำก็จะได้ทั้ง บุญในส่วนของทาน และ บาปในส่วนของการเบียดเบียน คละ ๆ กันไป

ผลลัพธ์ของการกระทำที่คละกันไปแบบนี้ หากความทุศีลไม่ได้รุนแรงมากพอที่จะส่งผลให้ได้อัตภาพของ สัตว์นรก พระพุทธเจ้ารับรองว่า บุคคลนั้นมีโอกาสที่จะน้อมไปสู่ความเป็น เดรัจฉานที่ได้ทรัพย์ของเดรัจฉาน ในกาลภายหน้า ดัง พุทธวจน กล่าวต่อ ชาณุสโสณีพราหมณ์ ดังนี้:

“[…] ดูกรพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตปองร้าย มีความเห็นผิด

(แต่) บุคคลนั้นย่อมให้ข้าว น้ำ ผ้ายาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของช้าง เขาย่อมได้ข้าว น้ำ มาลาและเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้น…**

**จากนั้นพระพุทธเจ้าทวนข้อความเดิมโดยเปลี่ยนสรรพนามจากเป็นช้าง, เป็นม้า, เป็นโค, เป็นสุนัข ตามลำดับ

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต)

เดรัจฉานที่ได้ทรัพย์ของเดรัจฉาน เป็นสัตว์ที่มีผู้เลี้ยงดู สมบูรณ์ในโภคทรัพย์ในแบบของสัตว์นั้น ๆ โดยไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากเหมือนสัตว์เร่ร่อน ไม่ต้องต่อสู้เคี้ยวกินกันเอง ก็เพราะอานิสงค์ของทานที่ทำไว้มากที่มาคละกับวิบากของการทุศีล

พระพุทธเจ้า จึงสอนว่า ให้ทานตลอด 100 ปี ไม่เท่ารักษาศีล ๕ บริบูรณ์ตลอด 1 วัน และตามมาด้วย รักษาศีล ๕ บริบูรณ์ตลอด 100 ปี ไม่เท่าเจริญสมาธิภาวนาชั่วกาลลัดนิ้วมือ

ลัดนิ้วมือเร็วแค่ไหน?

1 วินาทีเท่านั้น!

ในขณะที่จิตเป็นฌาน จะปราศจากนิวรณ์ ๕ นั่นคือ ช่วงเวลาที่อกุศลทั้งปวงดับ และในขณะที่จิตไม่มีอกุศล เป็นทั้ง ทาน และ ศีล

  • ทาน ดังกล่าวเป็น อภัยทาน เป็นผู้ให้ความปลอดภัยกับทุกสิ่งทุกอย่าง
  • ศีล เกิดโดยปริยาย มาจากการสำรวมกาย วาจา และใจให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว

อานิสงค์ ที่สูงกว่านี้ยังมีอีก

จิตเป็นฌานแล้วน้อมไปสู่การวิปัสสนา พิจารณาจนรู้แจ้งไตรลักษณ์ว่าธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตหลุดพ้น แตะกระแสนิพพาน นี้เป็นเหตุให้การทำสมาธิภาวนาเป็นบุญอันสูงสุด เพราะทำตัวนี้ตัวเดียวได้ครบทั้ง ทาน ศีล และสมาธิ

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email