ให้ทานอย่างไรให้ได้ ‘นิพพาน‘ โดยการรับรองของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าแบ่งการให้ทานออกเป็น 7 ทิฐิ 2 ผลลัพธ์ โดย 6 ทิฐิแรก ให้ผลใหญ่ แต่อานิสงค์น้อย และ ทิฐิที่ 7 คือ ให้ผลใหญ่ และอานิสงค์ใหญ่
7 ทิฐิมีอะไรบ้าง คัดย่อมาสรุปดังนี้:
1. ให้ทานโดยมีความหวังผล ให้ทานโดยมีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม (บุญ) ให้ทานโดยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้ จึงให้ทาน
2. ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดี จึงให้ทาน
3. ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี
4. ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร
5. ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ
6. ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส
การให้ทานโดยกระทำไว้ในใจอย่างใดอย่างหนึ่งใน 6 ทิฐิ ให้ผลใหญ่ คือ เบื้องหน้าตายไปโดยกายมนุษย์แตกทำลาย ย่อมได้ขันธ์ใหม่ประชุมเป็นอัตภาพในสุขคติโลกสวรรค์ชั้นต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ จาตุมหาราชิกา ไปจนถึง ปรนิมมิตวสวัสดี
โลกสวรรค์ตั้งแต่ 1 – 6 เป็นสัตว์ประเภทเทวดาในระดับ ‘กามภพ‘ มีอายุ วรรณะ และกามสุขอันปราณีตและเป็นทิพย์ นี่คือ ผลใหญ่ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทั้งหมดนี้…
“…เมื่อเขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้…” [บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๖๐/๔๙]
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ หมายถึง มีโอกาสดั่งฝุ่นปลายเล็บที่จะกลับมาสู่ความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ และมีโอกาสเท่าดินมหาปฐพีที่จะก้าวล่วงสู่ความเป็นสัตว์นรก เดรัจฉาน และเปรตวิสัย การให้ทานด้วยทิฐิทั้ง 6 จึงขึ้นชื่อว่า ให้ผลใหญ่ แต่อานิสงค์น้อย
และมาถึงข้อสุดท้าย ให้ผลใหญ่ และอานิสงค์ใหญ่
7. ให้ทานเป็นเครื่องประดับจิต ปรุงแต่งจิต
ให้ทานแบบนี้มีทิฐิอย่างไร กล่าวคือ ไม่มีทิฐิใด ๆ แต่ให้ทานเพื่อเป็นเครื่องอบรมจิตใจให้บริสุทธิ์ ที่เรียกว่า จาคสัมปทา; จาคสัมปทา เป็นไฉน
“…ให้ทานโดยมีใจปราศจากมลทิน ละความตระหนี่ อยู่ครองเรือนมีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา…” [บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑]
พระพุทธเจ้ารับรองว่าผู้ให้ทานด้วยการวางจิตแบบนี้ “…ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าพรหมกายิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้…” [บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๖๐/๔๙]
– พรหมกายิกา เหนือกามภพขึ้นไปแล้ว เป็นรูปภพและเป็นสัตว์ในระดับพรหม
– ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ โดยนัยยะ คือ อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่หวนกลับ หรือ ผู้ไม่มาเกิดอีก
ให้ผลใหญ่ และอานิสงค์ใหญ่ คือ เมื่อพ้นจากความเป็นมนุษย์ไปแล้ว ย่อมได้ขันธ์ใหม่ประชุมเป็นอัตภาพแห่งพรหม และได้ความเป็นอริยะระดับ อนาคามี ไปพร้อมกัน เมื่อสิ้นอายุขัย อัตภาพแห่งพรหมถึงที่สุดแล้ว สัตว์จะได้ ปรินิพพาน ในภพนั้น และออกจากระบบสังสารวัฏ
นี่จึงขึ้นชื่อว่าการให้ทานที่ให้ผลใหญ่ และได้อานิสงค์ใหญ่ คือ ให้ทานเพื่อเป็นอุบายในการทำที่สุดแห่งทุกข์ให้สิ้นไป