วิธีเคารพนับถือพระสงฆ์ ด้วยศรัทธาพร้อมด้วยปัญญา

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email

ข่าวด้านลบเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์อาจทำให้ชาวพุทธผู้เคยมีศรัทธาบางคนเริ่มไม่สบายใจ กังวลว่าใจตนเองจะเริ่มเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา เหตุเพราะพระสงฆ์บางรูปมักตกเป็นข่าวด้านมารยาทและโคจรที่ไม่สำรวม ไม่เคารพสิกขาบท ประกอบมิจฉาอาชีวะด้วยเดรัจฉานวิชชา ไปจนถึงไม่สอนธรรมะจากพระโอษฐ์ และการแต่งเติมคำสอนใหม่ เป็นต้น ฯลฯ

ยกตัวอย่าง :

ปล่อยปลา 1 ตัว ต่ออายุตัวเอง 1 ปี

ข้อเท็จจริง: พระพุทธเจ้าไม่เคยพยากรณ์

หากคุณฆ่าวัว คุณจะต้องไปเกิดเป็นวัวให้เขาฆ่า 500 ชาติ

ข้อเท็จจริง: พระพุทธเจ้าไม่เคยพยากรณ์

สุนัขและแมว คือ เดรัจฉานชาติสุดท้ายก่อนเกิดเป็นมนุษย์

ข้อเท็จจริง: พระพุทธเจ้าไม่เคยพยากรณ์

พระพุทธเจ้าทำน้ำพระพุทธมนต์ไล่อมนุษย์ที่เมืองเวสาลี

ข้อเท็จจริง: ไม่มีปรากฏแสดงไว้ในส่วนของพุทธวจน

มนุษย์จะต้องเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วนจึงจะนิพพาน

ข้อเท็จจริง: พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่า มนุษย์มีสุตตะ ฟังคำคถาคต ปรารถความเพียรในศีล สมาธิ และภาวนา มีโอกาสนิพพานในปัจจุบัน

ศาสนาพุทธมีอายุ 5,000 ปี

ข้อเท็จจริง: พระพุทธเจ้าไม่เคยพยากรณ์อายุของศาสนาพุทธ แต่ตรัสเตือนว่า หากภิกษุไม่ประกาศคำตถาคต พากันแต่งคำสอนใหม่ และประกาศคำแต่งใหม่ นี้เป็นเหตุแห่งการอันตรธานของพระธรรม และพระพุทธศาสนา

แล้วต่อไปเราจะเคารพศรัทธาพระสงฆ์กันต่อไปอย่างไร ยังฟังคำสอนจากภิกษุสาวกกันได้อยู่หรือไม่ ดูไม่ออกเลยว่าพระรูปไหนดีหรือไม่ดี ฯลฯ

ธรรมะดา จะมาเล่าวิธีที่ พุทธศาสนิกชน จะเป็นชาวพุทธที่เคารพนับถือพระสงฆ์อย่างมีศรัทธาได้ตามปกติต่อไป และสามารถป้องกันตัวเองจากคำสอนผิด เพื่อโอกาสได้เดินทางบนเส้นทางคำสอนที่ถูกต้อง เป็น พุทธศาสนิกชน ที่มีสัมมาทิฐิ และ ปัญญา ไม่เป็น ‘บุรุษคนสุดท้าย’ ในธรรมวินัยของพระตถาคต

วิธีเคารพนับถือพระสงฆ์ ด้วยศรัทธาพร้อมด้วยปัญญา

เริ่มต้นจากศรัทธา ‘พระธรรม’ — ศรัทธาพระธรรม ทำอย่างไร?

โดยให้กระทำไว้ในใจว่า พระพุทธเจ้า เป็นบรมศาสดาผู้สถาปนาพระธรรมวินัยนี้ และก่อนปรินิพพานไม่ได้แต่งตั้งใครเป็น ศาสดา มาดูแลต่อ ท่านประกาศชัดว่า พระธรรมที่ประกาศไว้ดีแล้วตลอด 45 พรรษา คือ ศาสดา ของพุทธบริษัททั้งหลายต่อไป

นอกจากนั้น พระพุทธเจ้า กำหนดให้ภิกษุทุกรูปในพระธรรมวินัยนี้เป็น ‘สาวก’ แปลว่า ผู้ฟังคำสอน ผู้เดินตามคำสอน และผู้ประกาศคำสอนที่ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว ดังนั้น สาวก ทั้ง ภิกษุ และ ฆราวาส จะต้องศึกษาใครครวญธรรม น้อมนำพิจารณา ลงมือปฏิบัติเพ่งพิสูจน์คำสอนให้รู้แจ้งด้วยตนเองใน ธรรมะจากพระโอษฐ์ เหล่านั้น

พุทธศาสนิกชน จะต้องมีธรรมะจาก ‘พระโอษฐ์’ ติดตัวบ้าง

ธรรมะจากพระโอษฐ์ ศึกษาจากที่ไหน? — ศึกษาจากต้นตอ มี 2 แห่ง ได้แก่ หนังสือพระไตรปิฏก และ หนังสือพุทธวจน

ชุดหนังสือพระไตรปิฏก: จะมีทั้งคำสอนจาก พระโอษฐ์ (พุทธวจน) และ อรรถกถา คือ ขยายความโดยพระเถระอาจารย์ รวมไปถึงคำแต่งใหม่

ชุดหนังสือพุทธวจน: จะตัดส่วน อรรถกถา ออกไปทั้งหมด เหลือแต่ คำพระโอษฐ์ ล้วน ๆ โดยส่วนนี้มีคณะจัดทำโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล และคณะสงฆ์แห่งวัดนาป่าพง

นอกจากพระพุทธเจ้าจะฝากฝังให้ พระธรรม เป็นศาสดาแทนพระองค์แล้ว ยังกล่าวเตือนให้ระมัดระวังคำแต่งใหม่ ดังนี้:

“…ภิกษุทั้งหลาย; พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใดที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก

เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน…”

(บาลี พระพุทธภาษิต ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒)

ดังนั้น การมีพื้นฐานด้านการศึกษา พระพุทธโอษฐ์ หรือ พุทธวจน หรือ คำจากปากตถาคต (ความหมายเดียวกัน) จะช่วยให้บุคคลเกิดความสามารถในการ วินิจฉัย และ แยกแยะ ระหว่างคำสอนพระพุทธเจ้า และ คำอุปโลกแต่งใหม่ และ ถ้อยคำบิดเบือนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

หมายเหตุ: คำแต่งใหม่ กับ คำอธิบายโดยสาวก อาจเป็นคนละกรณีกัน

คำอธิบายขยายความพระธรรมโดยภิกษุสาวก มีมาแต่พุทธกาล พระสารีบุตร, พระมหากายนะ ฯลฯ ล้วนเป็น อริยสาวก ที่มีปัญญา มีความสามารถอธิบายธรรมทั้งแบบย่อ และแบบขยาย ให้แก่ผู้มาใหม่ที่ฟังพระพุทธเจ้าแล้วยังไม่เข้าใจ ยังไม่อิ่ม คำอธิบายเหล่านี้ เป็นการอธิบายอยู่ในขอบเขต เป็นเรื่องในแนวทางของพระธรรมหลัก

ส่วนคำแต่งใหม่ คือ การสร้างเนื้อหาขึ้นใหม่ ปรุงแต่งขึ้นจากความคิดตัวเอง โดยมากเป็นเรื่องนอกแนวพระธรรมหลัก เป็นเนื้อหาที่พระพุทธเจ้าไม่เคยพยากรณ์ ฯลฯ

ภิกษุสาวก ผู้ปฏิบัติตามคำสอนดีแล้ว ย่อมประกาศคำสอนที่กล่าวไว้ดีแล้ว

เมื่อเราศึกษาคำสอนจากต้นทาง คือ พระไตรปิฏก และ พุทธวจน ก็แล้ว ลงมือปฏิบัติก็แล้ว จนมีศรัทธาอันเกิดแต่การเพ่งพิสูจน์รู้แจ้งแล้ว เราก็จะเข้าใจโดยปริยายว่า พระสงฆ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นพยานหลักฐานการมีอยู่ของ พระพุทธศาสนา

เราจะก้าวข้ามการเคารพบูชา พระสงฆ์ ในความเป็นตัวบุคคล

และน้อมไปสู่การเคารพบูชา พระสงฆ์ ในฐานะของความเป็นส่วนหนึ่งของ พระรัตนตรัย และย่อมอุปถัมภ์ คณะสงฆ์ เพื่อความตั้งอยู่โดยสมบูรณ์ของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่นเอง โดยจะเข้าใจต่อไปว่าท่ามกลางหมู่คณะสงฆ์ย่อมมีทั้ง ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และ ผู้ปฏิบัติมิชอบ

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ พุทธศาสนิกชน ควรศึกษาพระธรรมจากพระสูตรด้วยตนเองบ้าง

เพื่อสะสมพื้นฐานว่า พระพุทธเจ้ากล่าวธรรมอย่างไร เมื่อนั้นเราจึงจะตรวจสอบตามได้ว่า พระภิกษุ ที่อยู่ตรงหน้า บวชมาแล้วได้ศึกษา ได้รู้คำพระศาสดาหรือไม่ ประกาศคำสอนถูกต้องหรือไม่ เพราะผู้ใดก็ตามที่ศึกษาคำพระพุทธเจ้ามาดีแล้ว ไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลกจะกล่าวสอนด้วยประโยคเดียวทั้งสิ้น

วิธีปฏิบัติ ต่อพระสงฆ์ที่บิดเบือนคำสอนพระพุทธเจ้า

แล้วถ้าพระภิกษุที่อยู่ตรงหน้าไม่ประกาศคำพระศาสดา แต่กลับแต่งคำสอนใหม่ของตัวเอง หรือประกาศคำแต่งใหม่ที่ทรงจำมาอีกที มุ่งสนทนาเรื่องนอกแนว ฯลฯ เราควรทำอย่างไร?

พระพุทธเจ้าให้ทำอย่างนี้:

ไม่ตอบรับ ไม่คัดค้าน แต่ให้กลับมาสืบค้นเทียบเคียงกับ พุทธวจน หากตรงกันแปลว่า ภิกษุนั้นทรงจำมาถูก หากไม่ตรงกันให้รู้ไว้ว่าภิกษูนั้นทรงจำมาผิด ให้ทิ้งถ้อยความนั้นเสีย ดังนี้

“…ภิกษุทั้งหลาย! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใดที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

ภิกษุทั้งหลาย! ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะเรื่องสุญญตา เมื่อมีผู้นำสัตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร มีความหมายกี่นัย

ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้, ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็จะทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย เธอก็บรรเทาลงได้…”

(บาลี พระพุทธภาษิต ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒)

ปล. กรณีเพื่อนทรงจำมาผิด ก็ดูกาลและโอกาสว่าพอจะบอกกล่าว ตักเตือน และช่วยกันแก้ไขได้หรือไม่ บางครั้งการเตือนทันทีอาจไม่เป็นผลดี ต้องรอให้ถูกกาลด้วย

สุดท้าย

พุทธบริษัทที่มีปัญญา ศาสนาพุทธจะตั้งอยู่ได้นาน

ตามที่บอกไปตอนต้นว่า พระพุทธเจ้า ไม่ได้พยากรณ์ว่าศาสนาพุทธจะอยู่ได้ 5,000 ปี ท่านเพียงพยากรณ์เหตุแห่งความอันตรธานของคำสอน คือ พุทธบริษัท ไม่ประกาศคำสอนของตถาคต แต่งคำสอนใหม่กันขึ้นเอง ประกาศแต่คำแต่งใหม่ และผู้มาใหม่ก็รับฟังแต่คำสอนใหม่ ๆ สุดท้ายจะไม่เหลือ ผู้ที่มีสุตตะจากพระโอษฐ์อีกต่อไป ดังนี้

“…ดูกรอานนท์ เธอทั้งหลายจะพึงประพฤติตามกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนี้ได้ด้วยประการใด เรากล่าวอย่างนี้กะเธอทั้งหลาย ด้วยประการนั้น เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายของเราเลย เมื่อยุคบุรุษใดเป็นไปอยู่ กัลยาณวัตรเห็นปานนี้ ‘ขาดสูญไป’ ยุคบุรุษนั้นชื่อว่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายของบุรุษเหล่านั้น

เธอทั้งหลายจะพึงประพฤติตามกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนี้ได้ด้วยประการใด เรากล่าวอย่างนี้กะเธอทั้งหลายด้วยประการนั้น เธอทั้งหลายอย่าได้ชื่อว่าเป็น ‘บุรุษคนสุดท้าย’ ของเราเลย…”

* กัลยาณวัตร ในกรณีนี้ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘

(พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับมหามกุฏฯ) เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่มที่ ๒ ภาคที่ ๒)

แต่หาก พุทธบริษัท ศึกษาคำสอนแท้ ๆ พากันปฏิบัติจนเกิดศรัทธา และปัญญา แล้วพากันประกาศ พากันชวนให้เข้ามาดูส่วนที่เป็นคำสอนแท้ ๆ ศาสนาพุทธ ก็จะตั้งมั่นสืบต่อไป พระธรรมวินัยนี้ ก็จะถูกส่งต่อไปยังลูกหลานของเราให้พวกเขาใช้เป็นองค์ปัญญาเครื่องออกจากทุกข์ไปอีกนาน

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email