กาลามสูตร; สอนให้ปุถุชนไม่เชื่อแม้ในคำพระพุทธเจ้า ใช่หรือไม่

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email

กาลามสูตร เป็นหนึ่งในคำสอนที่ผู้คนเข้าใจผิด และถูกหยิบยกมาใช้กล่าวตู่พระพุทธเจ้าโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดีบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ

กาลามสูตร ข้อที่ ๑๐ กล่าวว่า “มา สมโณ โน ครูติ”

มักนำมาแปลว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพราะเคารพนับถือว่าคนพูดเป็นสมณะ เป็นครูของเรา เป็นศาสดาของเรา” และถูกนำไปอ้างว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อแม้แต่คำตถาคต ซึ่งไม่เป็นความจริง คำแปลที่ถูกต้อง คือ “อย่าปลงใจเชื่อเพราะเคารพนับถือว่าคนพูดเป็นสมณะ เป็นครูของเรา” จบเท่านี้

กล่าวคือ พระศาสดามีเพียงหนึ่งเดียว แต่ครูอาจมีหลายคน และถ้ายังพยายามให้เป็นไปว่า อย่าเชื่อแม้แต่พระศาสดา เป็นต้นแล้วย่อมจะขัดแย้งกันกับคำพระตถาคตในอีกโอกาสทันที ดังนี้

“…สาธุ สาธุ สารีปุตฺต โย โส สารีปุตฺต อริยสาวโก ตถาคเต เอกนฺตคโตอภิปฺปสนฺโน น โส ตถาคเต วา ตถาคตสาสเน วา กงฺเขยฺย วา วิจิกิจฺเฉยฺย วา ฯสทฺธสฺส หิ สารีปุตฺต…” [มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๙๙/๑๐๑๗]

แปลว่า

“…สาธุ ๆ สารีบุตร อริยสาวกใด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคตถึงที่สุดโดยส่วนเดียว, เขาย่อมไม่สงสัยหรือลังเลในตถาคตหรือคำสอนในตถาคต…”

ต่อมา บุคคลที่ฝึกธรรมมาดีแล้วย่อมรู้ข้อเท็จจริงว่าคำ พระตถาคต สอดคล้องและไม่ขัดแย้งกัน เพราะถ้าขัดแย้งกันเพียงหนึ่ง คำสอนทั้งหมดก็จะผิดต่อ ๆ กันเป็นโดมิโนนั่นเอง

ส่วนที่มาที่ไปของ กาลามสูตร เกิดขึ้นสมัยพระพุทธเจ้าไปสั่งสอนชาวบ้านเมือง ‘กาลามะ’ เนื่องจากชาวบ้านประสบปัญหาคล้าย ๆ กับบ้านเราในปัจจุบัน กล่าวคือ บ้านเมืองเต็มไปด้วย กูรู, ครู, อาจารย์, ของจริงบ้าง ของปลอมบ้าง ดีบ้าง เลวบ้าง สั่งสอนถูกบ้าง ผิดบ้าง โดยชาวบ้านก็เชื่อแบบไม่ใช้ปัญญา

ชาวบ้านปุถุชนเจอกูรูปลอม สั่งสอนผิด ๆ สอนให้งมงาย สอนให้เกิดมิจฉาทิฐิ แต่ชาวบ้านก็เชื่อเป็นตุเป็นตะและเกิดการใช้ชีวิตแบบผิด แบบนี้เป็นต้น ซึ่งความเชื่ออย่างง่ายดายของชาวบ้านบางครั้งอาจเกิดจากจริตที่เรียกว่า ‘ศรัทธาจริต’

ซึ่งแม้ในปัจจุบัน ในเมืองไทยเองก็มีปัญหากูรูปลอมจนกลายเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนให้เห็นเป็นประจำในหลาย ๆ วงการ ทั้งทางธรรม และทางโลก พระพุทธเจ้าจึงสั่งสอน กาลามสูตร ให้ใช้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้ชาวบ้านที่เป็น ‘ศรัทธาจริต’ เดินตามเพื่อพิจารณาครูของพวกเขาได้อย่างไม่ผิดพลาด หาใช่ไม่ให้เชื่อแม้แต่คำพระพุทธเจ้า

ปล. แต่สำหรับ ‘พุทธจริต’ โปรโตคอลนี้ก็จะมีบทบาทน้อยลง เนื่องจากมนุษย์ผู้มีธรรมชาติเป็น พุทธจริต จะไม่ปลงใจเชื่อแต่แรกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ ‘ไม่เชื่อแบบสักแต่ไม่เชื่อ’ นะครับ กลุ่มพุทธจริต คือ ‘ไม่เชื่อต้องพิสูจน์’ และจะลงมือศึกษาและปฏิบัติด้วยตัวเอง

สุดท้าย

“ตถาคเต เอกนฺตคโต อภิปฺปสนฺโน” เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคตแต่เพียงส่วนเดียว เช่นนี้แล้วจะไม่เสี่ยงเป็นความหลงงมงายเช่นกันหรือ

ก็ไปดูกันว่า พระตถาคต สอนให้เลื่อมใสในพระองค์ได้กล่าวอย่างไรต่อไป จะต้องเทิดทูนท่านหรือไม่ จะต้องให้ลาภสักการะท่านหรือไม่ ไปดูกันครับ

พระพุทธเจ้าตรัสแก่สารีบุตร ว่า:

“…ดูก่อน สารีบุตร; อริยสาวกผู้ใด มีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลง หรือสงสัยในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต…

พระสารีบุตรกราบทูลขยายความ ว่า:

“…ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด มีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่ง ในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่า อริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า…

– จักเป็นผู้ปรารภความเพียร

– เพื่อละอกุศลธรรม

– เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม

– มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง

– ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

จากนั้น พระสารีบุตร กล่าว 5 กิจสำหรับผู้เลื่อมใสในพระตถาคตเพียงส่วนเดียวพึงกระทำเพื่อเป็น พุทธบูชา ในความเลื่อมใสเหล่านั้น ได้แก่

– สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธา ในโพธิปักขิยธรรม

– วิริยินทรีย์ คือ ความเพียร ในสัมมัปปธาน ๔

– สตินทรีย์ คือ ความระลึกได้ ในสติปัฏฐาน ๔

– สมาธินทรีย์ คือ ความตั้งมั่น ในฌานทั้ง ๔

– ปัญญินทรีย์ คือ ความเข้าใจ ในอริยสัจ ๔…”

[พระไตรปิฎกภาษาไทย(ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๒๔๕ ข้อที่ ๑๐๑๑]

เมื่อพิจารณาแล้วย่อมเห็นว่าความเลื่อมใสในพระตถาคต แตกต่างจากความเลื่อมใสในตัวกูรู เจ้าสำนัก เจ้าลัทธิอื่น ๆ ทั้งในอดีต และปัจจุบันแทบทั้งสิ้น

สำหรับความเป็นผู้เลื่อมใสในตถาคตเพียงส่วนเดียวนั้นหาได้ต้องบูชาด้วยลาภยศ สรรเสริญ สักการะใด ๆ พระศาสดาให้ยังความเลื่อมใสเหล่านั้นเพื่อประโยชน์แก่ตัวพุทธศาสนิกชนเอง

คือ การใช้ศรัทธาเป็นพลังในการทำอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ทำความเป็นผู้แล่นไปในสังสารให้จบลงด้วยการเป็นผู้ตื่นรู้ มีความรอบรู้ในทุกข์ และมีปัญญาสว่างไสว

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email