สรุปธรรมะเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท กับ หลวงพ่ออำนาจ โอภาโส

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email

พระครูใบฎีกา อํานาจ โอภาโส หรือ หลวงพ่ออำนาจ เจ้าอาวาส วัดเพื่อพระนิพพาน ประเทศเยอรมัน และ ผู้ก่อตั้ง สถานธรรมปฏิจจสมุปบาท จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย เอื้อเฟื้อบรรยายธรรมะที่ ยุวพุทธิกสมาคม เมื่อวันที่ 27 – 30 มกราคม 2565

เว็บไซต์ ธรรมะดา มีโอกาสเข้าฟังการสาธยายธรรม และสรุปความรู้ที่ตกตะกอนจากการฟังธรรมในครั้งนั้น โดยจะเจาะหัวข้อ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ หลวงพ่ออำนาจ ทุ่มเทศึกษาเป็นเวลากว่า 30 ปีกันเลยทีเดียว

หมายเหตุ: การเทศน์จะเป็นการสาธยายธรรมที่ยาว และครอบคลุมหลากหลายเรื่องราว เราจึงอุปมาด้วยการตกตะกอน เป็นการจับใจความที่ท่านสอน มาประมวลผล และเชื่อมโยงกับข้อมูลธรรมะจากพระโอษฐ์ (พุทธวจน) แล้วสรุปเป็น ชุดความรู้ สื่อสารเป็นข้อ ๆ คำ ๆ เพื่อสะดวกต่อการเสพคบข้อธรรมของผู้อ่านทั่วไป

สรุปหัวข้อ ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกื้อกูลกันโดยดำเนินอยู่บนหลักการ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี – เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เป็นต้น

ปฏิจจสมุปบาท เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญยิ่ง เพราะแก่นธรรมที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ก็ คือ อริยสัจ ๔ และ ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง และตลอด 45 พรรษาของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ สาธยายธรรมอยู่ในขอบเขตของ อริยสัจ ๔ และ ปฏิจจสมุปบาท

ไม่ว่าพระสูตรใดนั้นจะสั้นหรือยาว ก็จะวนกลับมาจบที่ ทุกข์ สมุทัย สรุปให้เห็นโทษและความน่าเบื่อของระบบสังสารวัฏ, และ นิโรธ มรรค วิธีปฏิบัติเพื่อออกจากระบบนี้, และวิธีวัดสอบตนเองว่าทำที่สุดแห่งทุกข์ให้แจ้งถึงขั้นไหนแล้ว ฯลฯ

อวิชชา คือ ความไม่รอบรู้ในขันธ์ ๕ เป็นเหตุ สังขาร คือ ความคิดปรุงแต่ง จึงมี

– สิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ความคิดเห็น ๆ’ ที่เคยทำคนให้แบ่งแยก ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไปจนก่อศึกสงคราม ล้วนมีเหตุแต่ สังขาร

สังขาร เป็นเหตุ วิญญาณ คือ ธาตุรู้ จึงมี, เพราะ วิญญาณ เป็นเหตุ นามรูป คือ สิ่งต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่เพื่อให้ วิญญาณ เข้าไปรู้จึงมี

นามรูป เป็นเหตุ สฬายตนะ คือ อุปกรณ์ในการรับรู้ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงมี; เมื่อนามรูป และ สฬายตนะ มากระทบกัน เป็นเหตุให้เกิด ผัสสะ

ผัสสะ คือ การกระทบกันสำเร็จแล้ว เป็นเหตุสู่ เวทนา คือ การตัดสินอารมณ์ สุข ทุกข์ หรือ เฉย ๆ

เวทนา นี้แลที่นำไปสู่ ตัณหา คือ ความอยาก/ ไม่อยาก; เมื่อใจเข้าไปยึดในความ อยาก/ไม่อยาก ได้ มี เป็น ในสภาวะธรรมใด ๆ อาการนั้นเรียกว่า อุปาทาน คือ ความยึดมั่น

อุปาทาน คือ ความยึดมั่นในสภาวะธรรมนี้ จึงเป็นเหตุแห่ง ภพ — ความเกิดจึงมีด้วยประการเช่นนี้

– เมื่อมี ภพ คือ ความเกิด; ชาติ ชรา มรณะ ย่อมมีตามมาโดยปริยาย

– ภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นเหตุ ความโสกะ (โศกเศร้า) ปริเทวะ (คร่ำครวญ) ทุกขโทมนัส (ทุกข์) อุปายาส (คับแค้นใจ) จึงมีตามมาเป็นห่างว่าวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

กระบวนการทั้งหมดนี้ คือ ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด หรือ อนุโลมเทศนา ส่วนสายดับ หรือ ปฏิโลมเทศนา คือ เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป ฯลฯ ปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นทั้งตัว สมุทัย และ นิโรธ ในอริยมรรคมีองค์ ๘

อ่าน ปฏิจจสมุปบาท ทั้งแบบอนุโลมและปฏิโลม ที่นี่

สรุปหัวข้อ สัมมาทิฐิ และการมีปัญญารู้แจ้งระบบสังสารวัฏ

บุคคลเมื่อมีสัมมาทิฐิ เห็นแจ้งแทงตลอดกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาทอย่างดีด้วย ‘ภาวนามยปัญญา’ คือ ปัญญาจากการวิปัสสนา จะสามารถพาตนให้หลุดพ้นจากกระบวนการเกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ ได้

– การเกิด ภพ ชาติ ไม่ต้องรอให้ตายแล้วไปสู่ชาติหน้า

– การเกิด ภพ ชาติ เกิดตลอดทุก ‘วินาที’ เพราะ ขันธ์ ๕ ทำงานตลอดเวลา ไม่เคยหยุด แม้ตอนหลับก็ไม่หยุด; สัญญาขันธ์ ยังคงทำงาน เกิดความคิดปรุงแต่งไปสู่ ‘ความฝัน’

– ที่สุดแล้ว เราไม่ได้เป็นอะไร ๆ นอกจาก ‘กองขันธ์ ๕’ ที่มาประชุมกัน แยกกันทำหน้าที่ ที่สอดประสานกันเป็นกระแส ๆ ที่ลื่นไหลจนหลงเข้าใจว่า ‘นี้เป็นตัวของฉัน’

แม้แต่ วินาทีที่เราเหลียวใบหน้าจากการมองทิวทัศน์ทางซ้าย ไปสู่การมองทิวทัศน์ทางขวา นั้นคือ ภพชาติของโลกฝั่งซ้ายได้ดับไปแล้ว ภพชาติของโลกฝั่งขวาก็เกิดขึ้นมาใหม่

ขันธ์ ๕ ทำงานแบบนี้ คือ หนึ่งผัสสะ หนึ่งภพ หนึ่งชาติ; ขันธ์ ๕ เกิด เสื่อม ดับ ทุกการกระทบ ที่สุดแล้ว แม้แต่การตาย ว่าตามสัจธรรมแท้ ๆ นั้น ไม่มีคนเกิด ไม่มีคนตาย สิ่งที่เกิดและดับ คือ สภาวะธรรม ได้แก่ นามรูป

สรุปหัวข้อ ขันธ์๕ และ ใครคือผู้รับกรรม และวิบาก

เมื่อกล่าวว่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีใคร มีแต่สภาวะธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป บางคนอาจอุทานว่า ดีเลย ๆ เช่นนั้น เราจะร้านคนที่ไม่ชอบหน้าอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่… ไม่ใช่

ทุกการกระทำล้วนส่งผลต่อขันธ์ ๕

เมื่อเราดำเนินขันธ์ ๕ นี้ในการทำความดี ความดีนั้นขึ้นชื่อว่าเป็น กุศลกรรม ขันธ์ ๕ ย่อมได้รับการปรุงแต่งดี เมื่อนำไปใช้ทำความชั่ว เป็น อกุศลกรรม ขันธ์ ๕ ย่อมได้รับการปรุงแต่งชั่ว หลักการง่าย ๆ แค่นี้ ส่วนผลของ วิบาก นั้นมี 3 ระยะ ได้แก่ ทันที, ในเวลาต่อมา, และในเวลาต่อมาอีก

ดังนั้น เราทำดี แล้วยังไม่ได้รับผลดี หรือ คนนั้นทำชั่ว แล้วทำไมยังได้ดี ฯลฯ ไม่ต้องเสียเวลาคิด

วิบาก หรือ ผลของการกระทำ นั้นมีแน่นอน โดยอาศัยเหตุปัจจัย กาละ จังหวะ และโอกาส อันซับซ้อน จึงขอแค่เข้าใจระบบ ปฏิจจสมุปบาท แล้วใช้ ขันธ์ ๕ ที่มีอยู่นี้ทำสิ่งที่เป็น กุศล โดยส่วนเดียวก็พอ

หลวงพ่ออำนาจ โอภาโส แสดงธรรมเรื่อง เทคโนโลยี Metaverse ในมุมธรรมะ

รูปภาพจาก: ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ย.พ.ส.)

เพจหลวงพ่อ: ธรรมะจากพระครูใบฎีกาอำนาจ โอภาโส

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email