เราอาจเคยเห็นพระภิกษุบางรูป เมื่อสนทนากันแล้วมีอาการร่าเริง พากันหัวเราะเสียงดัง และเกิดสงสัยว่าเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งบทความนี้จะยังไม่ขอวิภากษ์วิจารย์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพราะเราจะพาไปเล่า ธรรมะ ว่าด้วย ‘อาการหัวเราะ’ ตามหลักเหตุปัจจัย
ผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฏกมาบ้างแล้ว น่าจะพอทราบกันดีว่า พระพุทธเจ้า ไม่มีอาการหัวเราะ เมื่อพระองค์ประสบความเบิกบานใจ ท่านจะเพียง แย้มพระสรวล เป็นการอมยิ้มโดยไม่เห็นไรฟัน
อาการร่าเริงเบิกบานใจเมื่อกระทบกับเรื่องน่าชอบใจของมนุษย์มีรูปแบบการแสดงออกหลายลักษณะ ตั้งแต่หัวเราะน้ำตาไหล ไปจนถึงอมยิ้มเบา ๆ
เหตุเพราะมนุษย์มีธรรมชาติของจิตหลายระดับ จิตที่ยังไม่ได้ฝึกดีแล้ว จิตที่ได้ฝึกดีแล้ว จิตหยาบ จิตละเอียด ฯลฯ
สำหรับจิตที่ฝึกดีแล้วและมีความละเอียดปราณีต อารมณ์ขันยังอยู่ แต่การตอบสนองต่ออารมณ์ขันจะสำรวมมากขึ้น ซึ่งการสำรวมนี้ไม่ใช่การอดทนหรือกลั้นขำ แต่ธรรมชาติของจิตเขาแสดงออกได้เท่านั้น และภายใจเขามีความปกติสุขดีทุกประการ
ซึ่งธรรมชาติของจิตนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ไม่จำกัดเพศ ไม่ว่าจะเพศชาย หรือเพศหญิง ไปจนถึงเพศฆราวาส หรือเพศบรรชิต กล่าวคือ หากฆราวาสฝึกจิตจนละเอียดปราณีต ก็จะแสดงอาการร่าเริงที่มีลักษณะสำรวมกว่าคนที่ยังไมได้ฝึก
การลงรายละเอียดต่อไปนี้ จะอยู่ใน อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรมฯ โดยจะเล่าโดยย่อและไม่เจาะรายละเอียดมากนัก เพื่อพอรู้ประมาณกันก่อน
กล่าวโดยย่อ พระพุทธเจ้า แบ่งจิตออกเป็นประเภทต่าง ๆ โดยพื้นฐานมี 89 อาการ โดยพิสดารมีมากถึง 121 อาการ โดยจิตที่จะเล่ามีชื่อว่า ‘หสนจิต’ เป็นจิตที่ตั้งของอาการ เบิกบาน ร่าเริง ยิ้มแย้ม เป็นต้น
หสนจิต แบ่งออกเป็น 13 ประเภทย่อย โดยคร่าว ๆ ไม่ลงรายละเอียด ได้แก่:
- โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา 4 (จิตปุถุชน)
- มหากุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา 4 (จิตปุถุชน และอริยบุคคล 3 ประเภท)
- มหากิริยาที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา 4 (จิตปุถุชน และอริยบุคคล 3 ประเภท)
- หสิตุปปาทจิตซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาอีก 1 (จิตพระอรหันต์)
จิตเหล่านี้เป็น ‘เหตุ’ สู่การแสดงอาการร่าเริง โดยจำแนกอาการร่าเริงออกเป็น 6 การแสดงออก
ได้แก่:
- อวหสิตะ หัวเราะงอกลิ้ง สะบัดตัวโยกไปมา น้ำตาไหล
- อุปหสิตะ หัวเราะสะบัดตัวโยกไปมา
- อติหสิตะ หัวเราะเฉย ๆ เสียงเบา หรือดังก็ได้
- วิหสิตะ หัวเราะเฉย ๆ เสียงเบา
- หสิตะ ยิ้มเห็นไรฟัน
- สิตะ ยิ้มไม่เห็นฟัน
สำหรับ ปุถุชนที่ไม่มีการฝึกกายและใจใด ๆ เลยมีโอกาสหัวเราะแบบที่ 1 และ 2 ได้ทุกเมื่อของชีวิต
สำหรับ ปุถุชนที่ฝึกมาบ้างแล้ว และอริยบุคคลทั้ง 4 ระดับ มีโอกาสหัวเราะแบบที่ 3, 4, 5 ได้ทุกเมื่อของชีวิต
สำหรับ สิตะ มีเพียงระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรักษาอาการยิ้มในลักษณะนี้ตลอดชีวิต
เหล่านี้ คือ เกร็ดความรู้ว่าด้วยเหตุที่มาของการแสดงอาการร่าเริงชนิดต่าง ๆ ของมนุษย์ตั้งแต่ปุถุชนไปจนถึงอริยบุคคล