ก่อนหน้านี้ ธรรมะดา ได้เกริ่นไปแล้วว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร สอนอะไร หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ อะไร อันได้แก่ อริยสัจ ๔, ปฏิจจสมุปบาท, และ ความรู้ทุกข์ และในตอนนี้จะไปขยายความในหัวข้อ อริยสัจ ๔ หัวข้อที่ฟังผิวเผินก็แสนธรรมดาเพราะท่องกันมาแต่เด็ก แต่อันที่จริงลึกซึ้งกว่านี้มาก
อริยสัจ ๔ คืออะไร
อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงแห่งอริยะ, ความจริงของผู้เป็นอริยะ, ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงสูงสุด, หรือความจริงแท้แน่นอน โดยบาลีมีคำว่า ‘อริ’ แปลว่า ภัย และ ‘ยะ’ แปลว่า ห่างไกล อีกนัยยะของ อริยสัจ ๔ จึงสามารถแปลได้ว่า สัจจะความจริงของผู้พ้นภัย 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, และมรรค
ทุกข์ หรือ ทุกขอริยสัจ
ทุกข์ คือ หัวใจของพระพุทธศาสนาดั่งที่ พระพุทธเจ้า ประกาศว่า นักบวชในธรรมวินัยนี้ บวชเข้ามาเพื่อเป็นนักกำหนดรู้ หรือผู้รอบรู้ในทุกข์
พระพุทธเจ้าตรัสอธิบาย ว่า…
“…ทุกขอริยสัจเป็นไฉน ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นทุกข์ ความประจวบกับสังขารหรือสัตว์อันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสังขารหรือสัตว์อันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความไม่ได้สมปรารถนา ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ฯ…”
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค)
ทุกข์ ภาษาไทยแปลว่า ไม่มีความสุข ภาษาอังกฤษ แปลว่า Suffering แปลว่า ทุกข์ระทม ตรอมตรม ทุรนทุราย เมื่อ พระพุทธเจ้า มักสื่อสารทำนองว่า ‘อะไร อะไร ก็เป็นทุกข์ ๆ’ บางคนจึงกล่าวว่า พระพุทธเจ้า เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ถึงมองโลกและชีวิตว่าไม่มีความสุข มีแต่ความ Suffering ดังนั้นจะต้องทำความเข้าใจคำว่า ทุกข์ ในพระพุทธศาสนาเสียก่อน
ทุกฺข หรือ ทุกขัง
บาลี แปลว่า สภาวะธรรมชาติ หรือ สภาพธรรมชนิดหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติเด่น คือ ทนอยู่ไม่ได้, ทนอยู่ไม่นาน, ทนอยู่ได้ยาก, มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ฯลฯ ทุกขัง จึงเป็นอาการหรือสภาวะชนิดหนึ่งในธรรมชาตินี้
ทุกขัง หรือ ความแปรปรวน เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ลำดับท้าย ๆ หรือเป็นปลายทางของเหตุปัจจัยสู่ความแตกสลาย เหตุปัจจัยสู่ความแตกสลาย คือ อะไร?
เหตุปัจจัยของความแปรปรวนสู่ความแตกสลายทั้งปวง คือ ‘การเกิด’
การเกิด ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการได้อัตภาพเป็นมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึง ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างมีชีวิต เหล่านี้นับเป็นการเกิด การเกิดของธรรมเหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยให้ก่อการ
- ดำริที่จะก่อการ เรียกว่า สร้างภพ มีภพ
- ก่อการแล้ว ก่อการสำเร็จแล้ว เรียกว่า สร้างชาติ มีชาติ
- มีชาติแล้ว ย่อมเข้าสู่กระบวนการ ชรา และ มรณะ โดยปริยาย
กระบวนการโดยคร่าวตรงนี้ย่อมาจากระบบ ‘ปฏิจจสมุปบาท’
สมุทัย หรือ สมุทัยอริยสัจ
สมุทัยอริยสัจ คือ สัจจะความว่าด้วยเหตุแห่งทุกข์ โดยตรัสอธิบายว่า…
“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นไฉน? ตัณหานี้ใด อันให้เกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยนันทิราคะ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ก็ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ไหน? ที่ใดเป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นั้น เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้ง อยู่ในที่นั้น
อะไร เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก? ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นั้น เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นั้น
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโน-วิญญาณ เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รัก ที่เจริญใจ
ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญ-เจตนา เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้ง
อยู่ที่นี้
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รัก ที่เจริญใจ ในโลก ตัณหา
เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
รูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจาร เป็นที่รัก ที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ…”
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค)
กล่าวโดยย่อ สมทัย หรือ เหตุแห่งทุกข์ คือ ความเกิดขึ้นของ กามตัณหา, ภวตัณหา, และ วิภวตัณหา แปลว่า ความทะยานอยากในกาม, ความทะยานอยากในความมีความเป็น, และความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น ตามลำดับ ซึ่งความเกิดขึ้นของตัณหาทั้งหลายอยู่ในระบบ ปฏิจจสมุปบาท เช่นกัน
นิโรธ หรือ ทุกขนิโรธอริยสัจ
ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ กระบวนการดับไปของทุกข์ โดย พระพุทธเจ้า ตรัสว่า
“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นไฉน? ความดับด้วยสามารถ ความสำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัย ในตัณหานั้น ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน? ฯ…”
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค)
จากนั้นก็ไล่ลำดับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ฯลฯ เหมือนท่อน สมุทัย ซึ่งความดับไปของตัณหาทั้งหลายอยู่ในระบบ ปฏิจจสมุปบาท เช่นกัน
อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ หรือ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือ ที่เราคุ้นเคยกันดีเรียกว่า อริมรรคมีองค์ ๘ คือ วิธีปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้งทุกข์ด้วยปัญญา และเพื่อความก้าวพ้นออกจากทุกข์ด้วยปัญญาเช่นกัน
ที่กล่าวว่า รู้แจ้งทุกข์ด้วยปัญญา เพราะ ณ ขณะนี้ ผู้ใหม่ในธรรมวินัยนี้เมื่อได้อ่านแล้วอาจใคร่ครวญตามด้วยความเข้าใจในแง่ อรรถะ พยัญชนะ และการคิดตามด้วยประสบการณ์เก่ามาเทียบเคียงก็จะย่อมเข้าใจด้วยหลักตรรกะ หรือ เข้าใจด้วยการประมวลผลของสมอง
แต่เมื่อเราฝึกสมถะและวิปัสสนา เราจะได้ความรู้อีกระดับหนึ่งซึ่งจะเข้าไปเห็นการเกิดดับของอารมณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในจิต ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ณ จุดนั้นจะเป็นการรู้แจ้งด้วย ภาวนามยปัญญา
พระพุทธเจ้า อธิบาย อริมรรคมีองค์ ๘ ดังนี้
“…ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกซึ่ง อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์ ๘) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังความข้อนั้น จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ เราจักกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย อริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นอย่างไรเล่า ?
ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์ เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่มุ่งร้าย ความดำริในการไม่เบียดเบียน, ภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสังกัปปะ
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, ภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวาจา
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม, ภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า สัมมากัมมันตะ
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย สาวกของพระอริยเจ้าในกรณีนี้ ละการหาเลี้ยงชีวิตที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ, ภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาอาชีวะ
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดแห่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด, ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่บังเกิด, ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว, ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวายามะ
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้,
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้,
เป็นผู้มีปกติผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้,
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้, ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสติ
ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่,
เพราะความที่วิตก วิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่,
อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และย่อมเสวยสุขด้วยกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึงตติยฌาน แล้วแลอยู่,
เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่, ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสมาธิ…”
มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๐ – ๑๒/๓๓-๔๑.
ส่วน อริมรรคมีองค์ ๘ มีอุบายในการย่อจำ ดังนี้ :
- ย่อจำให้สั้น เหลือ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
- ย่อจำให้สั้น เหลือ 2 คือ สมถะ และ วิปัสสนา
- ย่อจำให้สั้น เหลือ 1 คือ อานาปานสติ
เหล่านี้ คือ สิ่งที่ พระพุทธเจ้า ตรัสรู้เรียกว่า อริยสัจ ๔