80 ปีก่อนพุทธศักราช ณ วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือตรงกับเดือน 8 ของไทย, บุรุษนามว่า สิทธัตถะ ได้รู้แจ้งสัจจะความจริงของธรรมชาติที่แม้จะมีอยู่แล้วแต่ก็ไม่เคยมีใครเข้าไปล่วงรู้มาก่อน การรู้นั้นเรียกว่า ‘การตรัสรู้’ และกลายเป็น ‘พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า’ สถาปนา ศาสนาพุทธ นำสิ่งที่ตรัสรู้มาบอกสอนอย่างเป็นระบบ เรียกว่า พระธรรม และสร้างพระสาวกมาร่วมเผยแผ่เรียกว่า พระสงฆ์
พระธรรมคำสอนของ พระพุทธเจ้า นั้นมีจำนวนมากมายมหาศาลจนรวบรวมเป็นชุดคัมภีร์เล่มหนารวมกันถึง 45 เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎก
หากบุคคลทั่วไปจะเริ่มต้นศึกษาคำสอนพระพุทธเจ้า ก็อาจจะต้องใช้ความเพียรและเวลาเป็นอันมากในการเสพคบ พระไตรปิฎก ทั้งหมด เว็บไซต์ธรรมะดา จึงจะมารวบให้สั้นและอยู่จบในบทความเดียวว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร มีอะไรเป็นแก่นธรรม เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
กล่าวอย่างเร็ว คือ พระพุทธเจ้า ตรัสรู้อริยสัจ ๔, และ ปฏิจจสมุปบาท หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ความรู้ทุกข์
ไม่ว่าพระสูตรที่ตรัสสอนตลอด 45 พรรษาจะพิสดารสักเพียงใด ก็จะหมุนเวียนอยู่โดยรอบและย้อนกลับมาบรรจบที่ อริยสัจ ๔, ปฏิจจสมุปบาท, และความรู้ทุกข์
ก่อนจะไปขยายความ; ก่อนอื่นต้องขอสรรเสริญ 2 บุคคลสำคัญที่เป็นเลิศในการสรุปแก่นคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าให้จบในประโยคเดียวสั้น ๆ ได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญ และ พระอัสสชิ ทั้งสองเป็นนักบวชกลุ่มปัญจวัคคีย์
พระอัญญาโกณฑัญญเถระคาถา
เมื่อครั้ง พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ได้เดินทางไปแสดงธรรมครั้งแรกแก่ ปัญจวัคคีย์ โดย ท่านอัญญาโกณฑัญญ เป็นผู้บรรลุธรรมก่อนใคร และเปล่งอุทานสรุปสิ่งที่ได้รู้จากการฟัง ปฐมเทศนา ครั้งนั้นว่า
“…ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ…”
(ยัง-กิน-จิ, สุ-มุ-ทะ-ยะ-ทำ-มัง, สับ-พัน-ตัง, นิ-โร-ทะ-ทำ-มัง)
“…สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา…”
พระพุทธเจ้าเปล่งวาจารับรองความรู้ของท่านว่า ;
“…อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ…”
“…โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ…”
โกณฑัญญะ ทูลขอบวชทันที และได้รับการยกย่องให้เป็นเอตทัคคะในด้านรัตตัญญู คือ ผู้รู้ราตรีนาน เป็นผู้บรรลุธรรมก่อนใคร และเป็นปฐมพุทธสาวกรูปแรกในโลก จึงขึ้นชื่อว่าเป็น พระภันเท โดยปริยายไปพร้อมกัน คือ บวชรูปแรก เป็นพระอาวุโสที่สุดในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา
พระอัสสชิเถระคาถา
พระอัสสชิเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ หลังบวชและบรรลุอรหันต์แล้วจึงได้จาริกไปกับพระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ เมื่อครั้งออกบิณฑบาตในละแวกกรุงราชคฤห์ มีบุรุษนามว่า อุปติสสะมาณพ มาเห็นมารยาทและโคจรของ พระอัสสชิ ที่สำรวมและงดงาม จึงเกิดจิตเลื่อมใสศรัทธา เมื่อได้โอกาสอันควรจึงเข้าไปถวายความเคารพและไต่ถามว่า สมณะรูปนี้บวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดา และชอบใจธรรมอะไรของศาสดาผู้นั้น
พระอัสสชิ แม้เป็นถึงพระอรหันต์แล้ว ก็กล่าวอย่างถ่อมตัวว่าตนเป็นผู้ใหม่ เพิ่งบวชไม่นาน ไม่อาจแสดงธรรมอันกว้างขวาง และได้แสดงธรรมอย่างย่อว่า ;
“…เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ…”
“…ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้…”
อุปติสสะ เข้าใจธรรมะทันทีและได้รีบไปตามเพื่อนอีกคน ชื่อ โกลิตะ และบริวาร 250 คน ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อฟังธรรมและขอบวช ต่อมา อุปติสสะ บรรลุอรหันต์ได้นามว่า พระสารีบุตร และเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เป็นเลิศด้านปัญญา ส่วน โกลิตะ บรรลุอรหันต์ได้นามว่า พระโมคคัลลานะ และเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นเลิศด้านมีฤทธิ์
พระพุทธเจ้ามุ่งสอนอะไร
พระองค์ตรัสอุปมาอุปมัยว่า หากสิ่งที่ตรัสรู้เทียบเท่า ต้นไม้/ใบไม้ ในผืนป่า สิ่งที่นำมาสอนก็เทียบเท่าใบไม้ในกำมือ กล่าวคือ มุ่งสอนสิ่งที่มีคุณสมบัติดังนี้
- สำคัญ
- เร่งด่วน
- มีประโยชน์
- ปฏิบัติรู้ตามได้ทันที
เรื่องที่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็คือ การรู้เรื่องทุกข์ และ รู้วิธีพ้นทุกข์ โดย พระพุทธองค์ ประกาศแก่ภิกษุสาวกว่า
“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ใน สำนักพระสมณโคดม เพื่อประสงค์อะไร พวกเธอเมื่อถูกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่พวกเขาอย่างนี้ว่า พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาค เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ ฯ…”
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ติตถิยสูตร
ส่วนทุกข์ ได้แก่อะไร ก็ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทุกข์ซึ่งก็ขยายความในโอกาสต่อ ๆ ไป แต่ ณ โอกาสนี้จะกลับเข้ามาที่ข้อสังเกตของ พระคาถา ของพระอัญญาโกณฑัญญ และพระอัสสชิ ที่กล่าวว่า
“…สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา…”
และ
“…ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้…”
จุดสังเกตสำคัญ คือ คีย์เวิร์ด ‘เหตุเกิด’ และ ‘ความดับ’ นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้ามุ่งสอน เป็นแก่นธรรมะ และเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ว่าแต่ อะไรเกิด อะไรดับ? แบ่งเป็น 2 นัยยะ
- นัยยะที่ 1 ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น และธรรมเท่านั้นที่ดับไป ไม่มีตัวไม่มีตนของใครเป็นสรณะ
- นัยยะที่ 2 ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป ไม่มีตัวไม่มีตนของใครเป็นสรณะ
ซึ่งเราเรียนรู้กันมาแต่เด็กว่า ศาสนาพุทธสอน อริยสัจ ๔ ซึ่งนั่นก็เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และหากจะกล่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะกล่าวได้ว่า ศาสนาพุทธสอน อริยสัจ ๔, ปฏิจจสมุปบาท, และ ความรู้ทุกข์