ทำบุญ (ยัง) ไม่อธิษฐานขอลาภผลได้หรือไม่

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email

เรามักถูกสอนต่อ ๆ กันมาว่า เวลาทำบุญทำทานให้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้เสวยผลของทานนี้แล้วแต่ความปรารถนา แต่พอลืมอธิษฐาน หรืออธิษฐานไม่ครบก็ไม่สบายใจ กลัวทำบุญเสียเปล่า ฯลฯ

อันที่จริงคำสอนหรือคำแนะนำลักษณะนี้พระพุทธเจ้าไม่เคยชี้แนะ นอกจากนั้นเวลาตั้งจิตอธิษฐานหวังผล ใจเราก็จะไปมัวคิดว่าจะอธิษฐานอะไรดี อธิษฐานครบแล้วหรือยัง อธิษฐานผิด อุ๊ย เอาใหม่ ฯลฯ

ใจก็จะไม่ได้อยู่กับบุญและทานนั้นเพราะมัวแต่ไปพะวงเรื่องอธิษฐานขอลาภผล ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะใจขุ่นเพราะความโลภก็ดี และความกลัวก็ดี

– แล้วถ้าไม่ตั้งจิตอธิษฐานจะได้หรือไม่… ได้

– แล้วถ้าไม่อธิษฐานจะได้ผลของบุญหรือไม่… ได้

พระพุทธเจ้าอุปมาผลของบุญและวิบากกรรมดั่ง บุรุษผู้ต้องการน้ำมัน (งา)…

“… เสาะหาน้ำมัน เที่ยวแสวงหาน้ำมัน เกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยน้ำแล้วคั้นเรื่อยไป

แม้บุรุษนั้น ทำความหวัง, ทำความไม่หวัง, ทั้งทำความหวังและความไม่หวัง, ทั้งทำความหวังก็หามิได้ ความไม่หวังก็หามิได้ ก็ตาม

เมื่อเขาเกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยน้ำ แล้วคั้นอยู่เรื่อยไป บุรุษนั้นก็ต้องได้น้ำมันอยู่เอง ข้อนี้เพราะเหตุไร?

เพราะเหตุแห่งการได้น้ำมันนั้น เป็นสิ่งที่บุรุษนั้นได้ทำแล้ว โดยลึกซึ้งแยบคาย ฉันใด ก็ฉันนั้น…” (อุปริ. ม. ๑๔/๒๗๙/๔๑๔. )

กล่าวคือ ทำบุญ หวังผลก็ดี ไม่หวังผลก็ดี ย่อมได้รับผลของบุญนั้น

โดยพระพุทธเจ้ารับรองว่า การวางจิตในการทำบุญแต่ละชนิดให้ผลต่างกัน หวังผลได้ผลแบบหนึ่ง ทำส่งเดชได้ผลอีกแบบหนึ่ง และการวางจิตหวังผลกลับได้อานิสงค์น้อยกว่าการทำบุญส่ง ๆ โดยในสมองไม่ได้คิดถึงสิ่งใดเลยด้วยซ้ำไป

อันนี้ถือว่าเซอร์ไพร์ซมาก แต่พระพุทธเจ้าผู้มองเห็นกรรมของสัตว์ทั้งหลายก็ได้รับรองมาเช่นนี้

แล้วการวางจิตแบบไหนให้ผลมาก ให้อานิสงค์มาก?

พระพุทธเจ้ารับรองว่า การให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เป็นการให้ทานที่อานิสงค์มาก ดังนี้:

“…สารีบุตร; บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล […] ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส

แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว นํ้า […] ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าพรหมกายิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้…” (พุทธวจน เล่ม ภพภูมิ หน้า ๒๔๘)

คำว่า ‘ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต’ อาจจะฟังดูงง ๆ ว่าแปลว่าอะไร

จากที่ผมลองปฏิบัติและฟังจาก พระอาจารย์คึกฤทธิ์ อธิบายเพิ่มก็ได้ความและผลตรงกันคือ เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้เอื้อต่อการน้อมสู่สมถและวิปัสสนา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่พระอาจารย์กล่าวว่าเป็นหนึ่งในทางฝึกให้ถึงแก่ นิพพาน โดยอาศัยการให้ทานเป็นอุบาย

ฉะนั้นถ้าไม่สะดวกที่จะอธิษฐานอะไรในระหว่างทำบุญก็ไม่ต้องอธิษฐานอะไร หากระหว่างทำบุญ ใจอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ และมีสมาธิแม้เพียงช่วงเวลาเท่าช้างกระดิกหู นั่นคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญแล้วว่าป็นผู้ไม่เหินห่างจากฌาน

ส่วนการอธิษฐาน จะอธิษฐานตอนไหนก็ได้ที่สะดวก เพราะกุศลเมื่อทำไปแล้วมันก็อยู่กับเราไปตลอด อยากหยิบมาตั้งความปรารถนาตอนไหนก็ได้

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on email